"ศักดิ์ศรีของทหาร"
ทหาร คือ ผู้ที่ได้รับเกียรติอย่างสูงจากประชาชนทั้งชาติ
ให้เป็นสุภาพบุรุษ ถืออาวุธเพื่อป้องกันประเทศ
ทหาร เป็นผู้เสียสละประโยชน์สุขส่วนตัว เพื่อความผาสุกของประชาชน
และความอยู่รอดของชาติ
ทหาร คือ ผู้ที่รักและบูชาเกียรติยศมากกว่าเงิน
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ประวัติที่ตั้งหน่วย และประวัติหน่วย ร.111 พัน.2ประวัติที่ตั้งหน่วย และประวัติหน่วย ร.111 พัน.2พื้นที่ตั้งหน่วยในปัจจุบัน เดิมเป็นศูนย์อพยพพนัสนิคม ซึ่งเป็นศูนย์ผู้ลี้ภัยอินโดจีน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2523 ที่มีผู้ลี้ภัยมาจากประเทศเขมร ลาวพื้นราบ ลาวราบสูง เผ่าม้ง ขมุ เมี้ยน ลาหู และชาวเวียดนาม ที่ลี้ภัยมาจากสถาณการณ์ ภายในประเทศ ที่เกิดสงครามและการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบคอมมิวนิสต์ จึงเป็นสาเหตุให้ผู้ลี้ภัยอพยพเข้ามายัง ประเทศไทย และอาศัยอยู่ศูนย์ผู้ลี้ภัยต่างๆตามแนวชายแดน สำหรับผู้ลี้ภัยที่ประสงค์จะไปตั้งถิ่นฐานยังประเทศที่สาม อาทิเช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมัน ออสเตรีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และแคนนาดา จะถูกส่งมายังศูนย์พนัสนิคม ซึ่งเป็นศูนย์ ดำเนินกรรมวิธี และเตรียมการก่อนไปตั้งถิ่นฐานสำหรับพื้นที่ของศูนย์นั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ศูนย์ดำเนินกรรมวิธี (Processing Center : PC) เป็นเขตที่ผู้ลี้ภัยที่อยู่ระหว่างการสัมภาษณ์ ตรวจโรค เรียนภาษา และเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศที่จะไปตั้งถิ่นฐาน โดยปกติแล้วจะอยู่ระหว่าง 3 ถึง 6 เดือน ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ของประเทศผู้รับ 2.ศูนย์ดำเนินการส่งผ่าน (Transit Center : TC) เป็นศูนย์ที่ใช้เป็นสถานที่อยู่ อาศัยของผู้อพยพที่ได้รับการยอมรับให้ไปตั้งถิ่นฐานและผ่านกรรมวิธีในด้านต่างๆ จากศูนย์ดำเนินการกรรมวิธีแล้ว จะได้ทำการ ตรวจร่างกายเป็นครั้งสุดท้ายอีกทั้งจัดทำเอกสารการเดินทาง โดยจะพักที่ศูนย์นี้เป็นระยะเวลา 45 วัน ก่อนเดินทางไปตั้งถิ่นฐาน ในประเทศที่สามต่อไป โดยมี ศอร.บก.ทหารสูงสุด เป็นผู้รับผิดชอบ และบริหารงานภายในศูนย์พนัสนิคม ซึ่งทั้ง 2 ศูนย์จะตั้งอยู่ บน 2 ฝั่งถนนเส้นทางหลวงสาย 331 ฉะเชิงเทรา-ท่าเรือสัตหีบ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2529 กระทรวงมหาดไทยเป็นองค์กรที่รับผิดชอบการบริหารงานภายในศูนย์โดยได้รับความช่วยเหลือ จากองค์กรข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จนกระทั่ง ปี พ.ศ.2531 มีผู้ลี้ภัยอพยพเข้ามายังประเทศไทยเป็น จำนวนรวม 156,121 คน ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะลดจำนวนผู้ลี้ภัยให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยยึดตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง ที่ได้วางนโยบายให้ประเทศไทยเป็นแหล่งพักพิงชั่วคราว ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2537 กระทรวงมหาดไทย และองค์กรข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้ส่งผู้ลี้ภัยไป ยังประเทศที่สามเกือบทั้งหมด ยังคงหลงเหลือแค่บางส่วนคือ ชาวม้ง ที่รอไปตั้งถิ่นฐานแห่งใหม่ และจนกระทั่ง ปี พ.ศ.2538 ศูนย์พนัสนิคมได้ถูกรื้อถอนและปิดตัวลง เมื่อปี พ.ศ.2538 กองทัพบกมีแผนในการจัดตั้ง กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 111 ตามโครงการ เสริมสร้างกำลังพลกองทัพบก
ตามคำสั่ง ทบ.(เฉพาะ) ที่ 21/38 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2538 ซึ่งในขณะนั้นกองทัพบกมี วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งหน่วย เพื่อเป็นกองหนุนในการป้องกันประเทศเสริมสร้าง พัฒนากำลังพลสำรอง โดยใช้อัตราการจัด และยุทโธปกรณ์ 7-19 มีอัตราการบรรจุกำลังพล ร้อยละ 30 (หน่วยอัตราโครง) ขึ้นการบังคับบัญชากับกรมทหารราบที่ 111 กองพลทหารราบที่ 11 ซึ่งเป็นหน่วยฝากการบังคับบัญชากับหน่วยบัญชาการรักษาดินแดนในขณะนั้น ภารกิจของหน่วยคือ การเตรียมการรบ การบรรจุกำลังพลที่เป็นกองหนุน เพื่อทดแทนกำลังพลรบหลัก โดยขณะนั้นหน่วยได้ใช้อาคารกองร้อยเครื่องยิงหนัก กรมทหารราบที่ 111 เป็น บก.พัน ชั่วคราว ซึ่งตั้งอยู่ในค่ายสมเด็จพระนั่งเกล้า ต.บางตีนเป็ด อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา โดยมี พันโท ศิริ เกียรติสงคราม เป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 111 เป็นคนแรก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2540 หน่วยได้เริ่มก่อสร้างอาคารกองร้อยอาวุธเบาที่ 2 ในพื้นที่ของศูนย์พนัสนิคมเก่า เป็นลำดับแรก และได้จัดกำลังพลจำนวน 1 ชุดยิง สลับกันมาเฝ้าพื้นที่ในหน่วยในระหว่างก่อสร้าง ซึ่งพื้นที่หน่วยในขณะนั้นได้ปรับจาก อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี เป็น อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2541 หน่วยได้สร้างอาคารกองร้อยอาวุธเบาที่ 2 เสร็จและได้เคลื่อนย้ายกำลังพลกองร้อยอาวุธเบาที่ 2 เป็นกำลังพลส่วนแรกมาประจำอยู่ที่กองร้อยอาวุธเบาที่ 2
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2548 ขณะที่ พันโท สุพจน์ กันแตง ดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 111 ได้ย้ายที่ตั้งจากค่ายสมเด็จพระนั่งเกล้า ต.บางตีนเป็ด อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา มายังที่ตั้งปกติถาวรซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบัน ต.ท่าบุญมี อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี และใช้อาคารศูนย์อพยพเก่าเป็นที่ตั้ง บก.พัน ชั่วคราว เมื่อวันพุธที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 111 ได้รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพล ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดารามพระที่นั่งชุมสาย บริเวณสนามหน้าศาลาสหทัยสมาคม พระบรมมหาราชวัง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระยศในขณะนั้น เป็นผู้แทนพระองค์ ซึ่งในขณะนั้น พันโท นักรบ วรวาส ดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่111 เป็นผู้เข้ารับพระราชทานธงชัยเฉลิมพล จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร มาประจำยังหน่วยจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2554 กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 111 ได้รับงบประมาณสร้างอาคาร บก.พัน ถาวร โดยก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2555
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2560 กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 111 ได้รับอนุมัติให้ปรับโครงสร้างหน่วย เป็นพัน.ร.เบา อัตราลด 1 ใช้อัตราการจัดและยุทโธปกรณ์ 7-35
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2562 กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 111 ได้บูรณะอาคาร บก.พัน ใหม่ และใช้เป็นอาคาร บก.พัน จนถึงปัจจุบัน